Sasathorn House

....มีใครบางคนเคยบอกว่า...เราไม่สามารถอยู่ในสถานที่ ที่เราไม่เคยอยู่ แต่ฉันกำลังจะพิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่า ฉันคนหนึ่ง สามารถอยู่ได้ในทุกๆที่ แม้ว่าจะไม่คุ้นเคย และไม่มีเงินทองมากมาย แต่ก็มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่นี่.....Sasathorn House...

"ม่อน-ถ้ำ" ตำนาน อาถรรพ์ ความรัก : เผย“แพร่” แลตะลึง!?! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



แท่งเสาหินเรียงเป็น คูหาห้องที่ม่อนเสาหินพิศวง
       “แพร่” แม้จะเป็นเมืองผ่านที่ใครผ่านแล้วผ่านเลย
      
       แต่ถ้าใครมีโอกาสไปสัมผัสกับความน่าสนใจของเมืองหม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอแบบให้เวลาสักหน่อย ก็จะพบว่าในความเรียบง่ายของแพร่มีแง่งามแฝงเร้นอยู่ไม่น้อย ทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม อาหารการกิน วิถีชีวิต และสาวๆเมืองแพร่ที่น่ารักเปี่ยมไมตรี
กองหินพะเนินเทินทึก ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
       ด้วยมนต์เสน่ห์เหล่านี้ทำให้แพร่สำหรับ“ตะลอนเที่ยว”เป็นเมืองน่า เที่ยวเมืองหนึ่งในภาคเหนือ ยิ่งล่าสุดทางจังหวัดแพร่ได้เปิดตัว แหล่งท่องเที่ยวใหม่และปรับปรุงใหม่ออกสู่สายตาของคนภายนอก มันก็ยิ่งทำให้การมาแอ่วแพร่ของเราในครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆดีๆมาเผยแพร่ให้รู้ ว่า เมืองผ่านเมืองนี้ไม่ควรผ่านเลยด้วยประการทั้งปวง
      
       ม่อนเสาหินพิศวง
      
       นานมาแล้วที่ความมหัศจรรย์เล็กๆของธรรมชาติ อย่างกลุ่มเสาดิน“แพะเมืองผี” เป็นหนึ่งในเสน่ห์ดึงดูดให้คนมาเที่ยวเมืองแพร่ มาวันนี้แพร่ได้เผยโฉมความมหัศจรรย์เล็กๆของธรรมชาติขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “ม่อนเสาหินพิศวง” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านนาพูน พัฒนา ต.นาพูน อ.วังชิ้น ซึ่งจะน่าพิศวงแค่ไหนคงต้องตามไปดูกัน
นักเรียนมาทัศนศึกษา ที่ม่อนเสาหิน
       ม่อนเสาหินพิศวง เดิมเรียกว่า “ม่อนหินกอง” มีอยู่ ในพื้นที่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่าม่อนหินกองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลายคนได้ยินเสียงก้องกังวานในวันพระ บางคนเคยเห็นลูกแก้วลอยขึ้นมา บางคนเชื่อว่าเคยเป็นปราสาทโบราณศักดิ์สิทธิ์ก่อนพังทลายลง หรือไม่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณเจริญรุ่งเรืองแล้วล่มสลายในภายหลัง ส่วนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อตรงกันก็คือ ใครที่นำสิ่งก้อนหินออกไปจากม่อนจะประสบสิ่งไม่ดีหรือมีอันเป็นไป
      
       “เคยมีคนเอาก้อนหินออกไปจากม่อน พอไปถึงที่บ้านก้อนหินกลายเป็นงูไปได้ยังไงไม่รู้ ส่วนบางคนเอาไปฝันร้าย อยู่ไม่เป็นสุข ต้องนำหินมาคืน” ลุงรุณ พรหมจันทร์ เล่าให้เราฟัง
เสาหินต้นสั้นๆกอง เต็มพื้นที่ด้านหนึ่งของม่อนเสาหิน
       และด้วยความเชื่อของชาวบ้านทำให้ม่อนหินกองถูกทิ้งรกร้าง มีเพียงบางคนที่ขึ้นมาขอพร บนบานศาลกล่าว จนกระทั่งนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่คนปัจจุบันมาค้นพบ จึงร่วมมือกับนายอนุวัธ วงวรรณ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดแพร่ พัฒนาพื้นที่ม่อนเสาหินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดแพร่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ม่อนเสาหินพิศวง”
      
       “เรามองการเกิดม่อนหินเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่ไปทำลายความ เชื่อของชาวบ้าน ชื่อจุดต่างๆของม่อนเสาหินเราจึงตั้งชื่อตามความเชื่อของชาวบ้าน” ผู้ว่าเมืองแพร่กล่าว
กลุ่มแท่งเสาหิน เอียงที่ม่อนเจ้าอาจญา
       อนึ่งในทางวิทยาศาสตร์ม่อนเสาหิน เป็นหินบะซอลด์ เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟพาเอาหินหนืด(Magma)ขึ้นสู่พื้นโลก ก่อนเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้หินเกิดรอยแตกแยก เป็นหิน 3 เหลี่ยมถึง 8 เหลี่ยม(มีหิน 6 เหลี่ยมมากที่สุด) ลักษณะเป็นกองหิน แท่งหิน เสาหิน มีขนาดความอวบของต้นประมาณเสาบ้านเสาไฟฟ้าตั้งอยู่เรียงราย มีทั้งที่เป็นเสาหินต้นสูงท่วมหัวตั้งตรงเป็นระเบียบคล้ายคนมาจับเรียงเสา หิน และเสาหินต้นสั้นๆล้มระเกะระกะบนพื้นที่ราว 20 ไร่ บนเนินเขา
      
       ทั้งนี้ทางจังหวัดแพร่ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ม่อนเสาหินให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่แม้ปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ว่าก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อ การเดินเที่ยวชม โดยม่อนหินแห่งนี้ แบ่งเป็นจุดสำคัญๆ 8 ม่อน ย่อย ซึ่งที่เด่นๆมี
พื้นที่ส่วนม่อนเสา หินพิศวง
       “ม่อนเจ้าอาจญา” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่“เจ้าอาจญา” ผีที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาผีที่ชาวบ้านนับถือ มีลักษณะเป็นกลุ่มแท่งเสาหินสูงประมาณครึ่งช่วงตัวตั้งเรียงรายทำมุมประมาณ 45 องศากับพื้นที่
      
       “ม่อนเจ้าคำคือ” เป็นเสาหินก้อนหินจำนวนมาก มีทั้งตั้งตรง ล้มเอียง ตั้งเป็นกลุ่มกระจุก และกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ สำหรับชื่อม่อนตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าคำคือ ผีอีกตนหนึ่งที่ชาวบ้านนั้บถือ
บาตรรับเหรียญที่ ม่อนสะเดาะเคราะห์
       “ม่อนสะเดาะเคราะห์” เป็นก้อนหินเรียงตัวเป็นทาง เดิน และมีแอ่งคล้ายบ่อน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อเงินบ่อทอง ในบ่อมีบาตรวางอยู่ให้ผู้สนใจโยนเหรียญลงในบาตรเพื่อสะเดาะเคราะห์
      
       และ“ม่อนเสาหินพิศวง” ม่อนไฮไลท์ ที่เป็นแท่งหินสูงประมาณ 3 เมตร เรียงตัวติดกันเป็นคูหาห้อง ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่านี่คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงมีคนมาบนบานศาลกล่าวและ นำธูปเทียนมาเคารพสักการะที่ม่อนแห่งนี้
ห้องน้ำที่หลายคน วิจารณ์ว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
       และนี่ก็คือเสน่ห์อันชวนพิศวงของม่อนเสาหินพิศวงที่หลังจาก“ตะลอน เที่ยว”เดินขึ้นๆลงๆชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติจนทั่วบริเวณแล้ว เราก็ไปเจอกับห้องน้ำสีขาวเด่นตั้งอยู่ริมเนินเขาใกล้ๆกับกองก้อนหินกระจัด กระจาย ใครหลายคนที่เห็นแล้วต่างบ่นอุบกับห้องน้ำหลังนี้ว่าทำลายภูมิทัศน์ ซึ่งยังไง“ตะลอนเที่ยว” ขอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า ควรย้ายห้องน้ำหลังนี้ลงมาสร้างในตำแหน่งที่เหมาะสม มิฉะนั้นห้องน้ำหลังนี้จะกลายเป็น“จุดพิศวง” ที่ทำให้ม่อน เสาหินถูกลดทอนคุณค่าลงไปอย่างน่าเสียดาย
จอฉายมัลติมีเดียที่ โถงทางเข้า
       ถ้ำผานางคอย
      
       มาเที่ยวทริปนี้ เราได้สัมผัสกับอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดตัวใหม่แต่ไม่ใหม่ของจังหวัด แพร่ นั่นก็คือ “ถ้ำผานางคอย” ที่บ้านผาหมู อ.ร้องกวาง
      
       พูดอย่างนี้หลายคนอาจงง แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้ำผานางคอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่คู่เมืองแพร่มาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าของเก่านั้นเป็นการปล่อยไปตามอัตภาพ จนเมื่อทางจังหวัดกับอบจ.เข้ามาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ จึงเกิดเป็นถ้ำผานางคอยในมิติใหม่ขึ้น
บรรยากาศในถ้ำผานาง คอยเมื่อมองย้อนออกไปยังโถงถ้ำทางเข้า
       สำหรับนักเที่ยวถ้ำหลายคนอาจมองว่า เราควรปล่อยให้สภาพของถ้ำเป็นไปตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่ควรไปเสริมแต่งมัน เพราะนอกจากกระทบต่อธรรมชาติภายในถ้ำแล้วยังทำให้ถ้ำเสียคุณค่าอีกด้วย แต่นั่นมันควรใช้กับ"ถ้ำเป็น" ที่หินงอกหินย้อยยังเจริญ เติบโตอยู่ แต่สำหรับถ้ำแห่งนี้ เป็น"ถ้ำตาย" ที่หินหยุด เจริญเติบโต(มีบ้างที่ยังเติบโตอยู่แต่ว่าไกลจากน้ำมือคน)แถมยังมีคนมาสร้าง สิ่งต่างๆไว้ในถ้ำนานแล้ว
      
       ดังนั้นการพัฒนาถ้ำจึงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทางอบจ.แพร่ได้ให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาถ้ำเพื่อการท่อง เที่ยว จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้และศิลปากรมาช่วยจัดตกแต่งภูมิทัศน์ ใส่แสง สี เสียง เทคนิคสมัยใหม่ และสร้างเส้นทางเดินท่องเที่ยวในพื้นที่ประมาณ 150 เมตร กว้างราว 20 เมตรของถ้ำ โดยดึงเอาตำนานรักอมตะของถ้ำแห่งนี้มาผูกเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกับจุดน่า สนใจต่างๆภายในถ้ำ
หินรูปหน้าเด็ก
       เริ่มตั้งแต่การเดินเข้าสู่ภายในโถงถ้ำที่มีจอภาพมัลติมีเดียแอนนิเม ชั่นฉายเรื่องราวเล่าตำนานถ้ำที่ดูล้ำไม่น้อย ซึ่งเราเพิ่งเคยพบเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่นี่แหละ โดยตำนานพื้นบ้านคร่าวๆของถ้ำผานางคอยนั้น มีอยู่ว่า
      
       ...เมื่อ 800 กว่าปีที่แล้ว เจ้าเมืองแห่งอาณาจักรแสนหวีมีราชธิดาผู้เลอโฉม มีพระนาม “เจ้าหญิงอรัญญณี” วันหนึ่งเจ้าหญิงเสด็จโดยชลมารคแล้วเกิดเรือล่ม คะนองเดช(ชื่อตามแอนนิเมชั่น เข้าใจว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง)ทหารหัวหน้าฝีพายได้เข้ามาช่วยเหลือ เจ้าหญิงแล้วเกิดรักกัน แต่ก็เหมือนตำนานรักไม่สมหวังทั่วไป คือฝ่ายพระราชบิดากีดกันเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมกัน ทั้งคู่จึงพากันหนีลงมาทางใต้โดยมีทหารไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิดจนเจ้าหญิง ถูกยิง คะนองเดชจึงพาเจ้าหิงมาหลบในถ้ำแห่งนี้ เจ้าหญิงเห็นว่าคะนองเดชกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงให้หนีไปก่อน โดยบอกว่าจะคอยทหารอันเป็นที่รักแห่งนี้ตลอดไป กลายเป็นก้อนหินนางคอยกับตำนานรักอมตะปนเศร้าของถ้ำผานางคอยแห่งนี้...
หินรูปหัวใจ(คน)
       เอาล่ะเมื่อรู้ตำนานกระชุ่นอารมณ์แล้ว ทีนี้เราก็ได้เวลาเดินเที่ยวถ้ำที่มีการกำหนดจุดสนใจต่างๆ ไว้ 13 จุด ให้สอดรับกับตำนานควบคู่ไปกับสิ่งสวยๆงามๆภายในถ้ำ โดยจุดเด่นๆก็มี
      
       “คูหาสวรรค์” เป็นโพรงถ้ำปากทางเข้ามีหินย้อยลักษณะคล้ายมือขนาดใหญ่ เชื่อว่าเจ้าหญิงอรัญญณีเคยมาพักพิงที่นี่
เนรมิตม่านแก้ว หินงอกหินย้อยรูปทรงผ้าม่าน
       “งามพิศอนงค์สนาน” เป็นธารน้ำซึมจากเบื้องบน เชื่อว่าเป็นที่สรงน้ำของเจ้าหญิงอรัญญณี
      
       “เนรมิตม่านแก้ว” เกิดจากหินงอกหินย้อยบรรจบกัน เป็นรูปทรงคล้ายผ้าม่านอ่อนช้อยสวยงามขนาดใหญ่
ธารเทพอธิษฐาน ธารน้ำในถ้ำกับหินทรงประหลาด
       “ธารเทพอธิษฐาน” ธารน้ำในถ้ำที่มีหินย้อยทรงยานอวกาศลอยเด่นอยู่ด้านบน
      
       และ ”อลังการแห่งรักอรัญญณี” เป็นหินรูปร่าง ประหลาด ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหญิงอรัญญณีอุ้มลูกคอยคนรักจนกลายเป็นหินที่นี่ จึงเรียกว่า“หินนางคอย” ซึ่งหากมองถูกจุดถูกมุมแล้วจินตนการตามจะดูคล้ายผู้หญิงกำลังอุ้มลูกผินหน้า ไปทางหนึ่ง
หินนางคอย กับตำนานรักอมตะแห่งถ้ำผานางคอย
       นอกจากจุดน่าสนใจต่างๆอันเชื่อว่าเป็นตำนานแล้ว ถ้ำแห่งนี้ยังน่ายลไปด้วย หินงอกหินย้อย หินเกล็ดประกายเพชร หินรูปหัวใจ(คน) หินริ้วผ้าม่าน หินหน้าเด็ก พระพุทธรูป รูปเคารพฤาษี และลวดลายของหินตามเพดาน ผนังถ้ำ รวมถึงบรรยากาศภายน้ำที่มีลมโกรกเย็นสบายเพราะเป็นช่องลมพอดี นับเป็นความน่าสนใจของถ้ำเก่าในมิติใหม่ที่นอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังมีตำนานความรักอมตะเป็นเครื่องสอนใจคนรุ่นใหม่บางคนที่ไม่ค่อยจะถนอมใน คุณค่าแห่งรักอีกด้วย
      
       และนี่ก็คือเรื่องราวของ 2 แหล่งท่องเที่ยวเปิดตัวใหม่ ถือเป็นอีกบางส่วนบางมุมของเมืองแพร่เมืองผ่าน ที่หากใครผ่านแล้วไม่ผ่านเลยก็จะรู้ว่าแพร่มีสิ่งดีๆชวนค้นหาเกินกว่าความ คาดคิดคำนึงของใครหลายๆคนอยู่ไม่น้อยเลย
       *****************************************
       

"ข้าวหนึกงา" โมจิเมืองแพร่

 ของทานเล่นแก้หิวยามเช้าในช่วงหน้าหนาว ของชาวแพร่ อาจจะไม่ใช่ปาท่องโก๋ เหมือนทั่วๆไป อากาศที่นี่เข้าขั้นหนาวถึงหนาวจัด ตอนเช้าต้องลุกขึ้นมาผิงไฟในครัวพร้อมๆกับนึ่งข้าวเหนียวไปด้วย อาหารที่ให้พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นและต้องไม่ยากในการทำ "ข้าวหนึกงา" หรือข้าวคลุกงา คือเมนูที่ทำง่ายและอิ่มท้องจนกว่าจะถึงอาหารมื้อเช้าอีกครั้งหนึ่ง วิธีทำก็ง่ายแสนง่าย นั่นคือ ใช้เกลือเม็ดโขลกกับ งาขี้ม้อน ซึ่งเป็นงาพื้นบ้านที่ปลูกกันทั่วๆไป โขลกพอแหลก แล้วก็เอาข้าวเหนียวร้อนๆใส่ลงไป โขลกจนข้าวเหนียวติดกันไม่เห็นเป็นเม็ดข้าว เวลาจะทานก็เอามาใส่ใบตองทานกันร้อนๆ ควันฉุย หอมกลิ่นงา จนต้องทานเป็นชิ้นที่  2 ชวนให้นึกถึงโมจิของญี่ปุ่นที่มีให้ทานตามร้านอาหารญี่ปุ่นหรูๆ แต่ที่นี่ไม่ต้องเสียเงินแพงๆ ก็ได้ทานอาหารที่มีคุณค่า และเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เที่ยวแพร่ หนาวนี้อย่าลืม "ข้าวหนึกงา" นะคะ

บทความเกี่ยวกับเมืองแพร่ที่น่าสนใจ จากManager Online


บ้านวงศ์บุรี สวยสง่าสีชมพูคู่เมืองแพร่
       จังหวัด"แพร่"ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งป่าไม้ โดยเฉพาะป่า"ไม้สัก"นั้นแพร่ขึ้นชื่อลือชามาก
      
       เมื่อป่าไม้มีเยอะ ในยุคหนึ่งชาวแพร่จึงนิยมสร้างบ้านแบบโชว์ไม้ เน้นเสาต้นใหญ่ๆ โดยเฉพาะเสาซุ้มประตูหน้าบ้านนี่คัดกันมาต้นเบ้อเริ่มเทิ่มดูอลังการงาน สร้างไม่น้อย
      
       อย่างไรก็ตามนั่นเป็นค่านิยมในการสร้างบ้านของคนเมืองแพร่ในยุคสมัย หนึ่ง ส่วนถ้าย้อนหลังจากบ้านยุคโชว์เสาโชว์ไม้ถอยกลับไปไกลกว่านั้นเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นแพร่ถือเป็นยุคทองของการสร้างอาคารบ้านเรือนในทรงยุโรปประยุกต์โดย เฉพาะเรือนสไตล์"ขนมปังขิง"อันสุดแสนจะ คลาสสิก
      
       ปัจจุบันตัวเมืองแพร่ยังหลงเหลืออาคารบ้านเรือนในยุคคลาสสิก หรือที่หลายคนเรียกว่า"บ้านโบราณ"ให้ผู้พิสมัยในอาคารเก่า ได้ชื่นชมกันเป็นจำนวนหลายหลังด้วยกัน ทั้งเรือนที่มีคนอยู่อาศัย เรือนที่ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ เรือนที่ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยไปตามความเหมาะสม รวมถึงเรือนที่ถูกทิ้งร้างแต่ไม่เคยร้างลามนต์เสน่ห์ในความคลาสสิกสวยงาม
      
       ฉะนั้นเมื่อได้ขึ้นไปแอ่วเมืองแพร่(อีกครั้ง) เราจึงหาโอกาสไปปั่นจักรยานฟรีชมเมืองชมโน่นชมนี่ โดยมุ่งเน้นไปที่บรรดาอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ทั้งหลายที่ยังทรงคุณค่าอยู่ เสมอ
ห้องจัดแสดงที่มีรูป ของเจ้าแม่บัวถาในบ้านวงศ์บุรี
       บ้านวงศ์บุรี สีชมพูสวยสง่า
      
       เวลาคนอินเลิฟมีความรักมักมองอะไรเป็นสีชมพู แต่สำหรับใครที่มาเที่ยวยัง"บ้านวงศ์บุรี"(ถ.คำลือ)จุด หมายแรกของเราในทริปนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหนก็จะพร่างพราวไปด้วยสีชมพู เพราะบ้านหลังนี้อาบด้วยสีชมพูหวานเนียนไปทั้งหลัง แถมยังเป็นหนึ่งในบ้านเก่าสุดคลาสสิกที่อยู่คู่เมืองแพร่มาร่วมร้อยกว่าปี แล้ว
      
       บ้านวงศ์บุรีหรือคุ้มวงศ์บุรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ มีลักษณะเป็นเรือนขนมปังขิงไม้สักทอง 2 ชั้น ที่สร้างอย่างประณีต อ่อนช้อย งดงามสมส่วน มีเพดานสูง หลังคาสูง โดดเด่นไปด้วยลวดลายไม้ฉลุตามหน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม แฝงเส้นสายแสงเงาอยู่ในที
ลวดลายฉลุหน้าจั่ว อันวิจิตรที่บ้านวงศ์บุรี
       ปัจจุบันบ้านวงศ์บุรีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน กับส่วนหน้าที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายในอดีต มีห้องที่เด่นๆอย่าง ห้องของแม่เจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน แต่ละห้องเพียบพร้อมไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ โต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้ ถ้วยโถโอชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก แหย่งช้าง อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รูปภาพเก่าแก่ต่างๆที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้
      
       นอกจากนี้ยังมีห้องเก็บเอกสารทรงคุณค่าในอดีตที่หาดูได้ยาก อย่าง เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตรที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 5 และเอกสารการซื้อ-ขาย ทาสที่เรียกความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
      
       และด้วยความสวยงามโดดเด่นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้บ้านวงศ์บุรีได้รับการยกย่องให้เป็น"อาคารอนุรักษ์ดีเด่น" ประจำ ปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เมื่อ"ตะลอนเที่ยว"เข้ามาสัมผัสดูแล้วรู้สึกว่าที่นี่ดุจดังโลกใบน้อยสี ชมพูที่คอยสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนอยู่มิสร่างซา
บ้านวิชัยราชา
       กลุ่มบ้านคหบดี
      
       เรือนขนมปังขิง เรือนแบบยุโรปประยุกต์ ในเมืองแพร่ในอดีตเป็นเรือนของคหบดีและผู้มีอันจะกิน แต่น่าเสียดายว่า วันนี้เรือนเก่าบางหลังถูกทิ้งโดดเดี่ยวเปลี่ยวเปล่า ดังเช่น "บ้าน(คุ้ม)วิชัยราชา" (ถ.สันกลาง ใกล้ๆกับวัดศรีบุญเรือง)หรือ"บ้าน เจ้าวงศ์" หรือ"บ้านเจ้าโว้ง" อดีตบ้านเก่าทรง คุณค่า ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาก่อน พ.ศ.2434 โดยเจ้าหนานขัติ (ต้นตระกูลแสนสิริพันธุ์ ) บุตรเจ้าแสนเสมอใจ ที่รอผู้สนใจหรือหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือดูแลปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์หรือ แหล่งเรียนรู้คู่เมืองแพร่ต่อไป
บ้านหลวงศรี
       ในขณะที่เรือนคฤหบดีอีกหลายหลังสามารถชมได้เฉพาะภายนอกเพราะยังใช้ อยู่อาศัยเหมือนเช่นอดีต ดังเช่นบ้านหลวงศรี(ถ.เจริญเมือง ใกล้สี่แยก สภ.เมืองแพร่) ยกเว้นบางบ้านที่ยามไปแอ่วแล้วโชคดีเจอเจ้าของเรือนนำชมภายในอย่างกับที่ "บ้าน เจ้าหนานไชยวงศ์" หรือ "บ้านเจ้าหัวเมืองแก้ว" หรือ "บ้านเจ้าหนานตึ"
บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์
       บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ สร้างราว พ.ศ. 2450 โดยช่างที่คาดว่าจะเป็นชุดเดียวกับช่างสร้างบ้านวงศ์บุรี บ้านหลังนี้ปัจจุบันเป็นสีไม้ตามธรรมชาติ แม้ดูภายนอกจะเก่าแต่ว่าก็คงไว้ด้วยความเก๋าและความน่าเกรงขาม โดยเฉพาะลวดลายฉลุไม้อันอันสวยงามอ่อนช้อยตามสไตล์เรือนขนมปังขิง
ทางขึ้นด้านข้างของ บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์
       บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์แม้จะมีผู้อยู่อาศัย แต่ทางเจ้าของบ้านได้กันส่วนหนึ่งไว้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ต่างๆ โดยเจ้าของบ้านวางแผนว่าในอนาคตอาจจะทำบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เพิ่มแหล่ง เรียนรู้คู่เมืองแพร่ขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง
อาคารน้ำเพชร โรงเรียนนารีรัตน์
       คุ้มเจ้าหลวงเมือง แพร่
      
       เรือนเก่าในเมืองแพร่ นอกจากจะเป็นบ้านพักอาศัย อาคารร้านค้า และพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีอาคารเรียนอย่าง "อาคารน้ำเพชร" ใน โรงเรียนนารีรัตน์ ที่ดูเก่าขรึมขลังสวยเท่ในสไตล์เรือนขนมปังขิง
      
       ในขณะที่ตรงข้ามกับโรงเรียนนารีรัตน์มีอีกหนึ่งอาคารสำคัญซึ่งถือ เป็นไฮไลท์ปิดท้ายในการเที่ยวของเราในทริปนี้ นั่นก็คือ "คุ้มเจ้า หลวงเมืองแพร่" (ถ.คุ้มเดิม หน้าจวนผู้ว่าฯแพร่ปัจจุบัน)
      
       คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ สร้างในปี 2435 ก่อนคุ้มวงศ์บุรี 5 ปี โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มเจ้าหลวงเมือง แพร่
       คุ้มเจ้าหลวงฯต่างจากเรือนเก่าส่วนใหญ่ในเมืองแพร่ เพราะไม่ได้เป็นเรือนไม้หากแต่เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน 2 ชั้น มีประตูหน้าต่าง 72 บานตกแต่งด้วยลายฉลุสวยงามทั้งภายนอก ภายใน อาคารหลังนี้ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงเป็นท่อนวางเรียงเป็นฐานรากแทน
      
       ในปี พ.ศ. 2501 คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดแพร่ ส่วนในปี พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นในปี พ.ศ. 2540
      
       ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ แบ่งพื้นที่เป็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องพิริยภูมิศิลป์ นำเสนอมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น) ห้องพิริยทัศนา นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ห้องพิริยสวามิภักดิ์ เป็นห้องเทิดพระเกียรติ ห้องพิริยอาลัยนำเสนอประวัติเจ้าหลวง
คุกใต้ดินดูวังเวง ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
       นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจและแปลกกว่าอาคารไหนๆ นั่นก็คือ ส่วนคุมขังนักโทษหรือคุกในชั้นใต้ดิน ที่แบ่งเป็นคุกปีกซ้ายและปีกขวาเป็นห้องมีแสงส่องบ้าง เอาไว้คุมขังผู้ที่ทำความผิดสถานเบา(ลหุโทษ) โดยที่คุกปีกขวามี"ตูบผี" ช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เอาไว้หย่อนอาหารให้นักโทษด้วย ส่วนผู้ที่ทำผิดร้ายแรง ผิดสถานหนักจะถูกคุมขังในคุกมืดที่ห้องกลาง
      
       สำหรับการเข้าชมในคุกใต้ดินนั้น เขามีเคล็ดอยู่ว่า อย่าเดินหน้าหันหน้าเข้าคุกแต่ให้เดินถอยหลังเข้าคุกแทน ส่วนตอนออกก็เดินหน้าออกมาอย่าหันหลังไปมองคุก เพราะอาจจะทำให้ต้องโทษเข้าคุกในอนาคตได้
      
       ส่วนบรรยากาศในคุกยามที่"ตะลอนเที่ยว" ลงไปเดินชมนั้นวังเวง ชวนขนลุกไม่น้อย แต่นี่ไยมิใช่เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งเรือนเก่าในเมืองแพร่ ที่เราคงต้องตามดูกันต่อไปว่า บรรดาอาคารบ้านเรือนเก่าต่างๆในเมืองแพร่ รวมถึงที่อื่นๆทั่วฟ้าเมืองไทยจะได้รับความสนใจ คงสภาพ และยืนหยัดต้านการรื้อทำลายได้มากน้อยแค่ไหน